วัณโรคคือ
  การรักษาวัณโรค
 

ในอดีตคนที่เป็นวัณโรคมักถูกเพื่อนบ้านรังเกียจ เพราะความกลัวว่าจะติดโรค เนื่องจากในระยะแรกๆนั้นยังไม่มียารักษา หากใครเป็นก็ต้องพักผ่อนในที่มีอากาศบริสุทธิ์ ทานอาหารดีๆ จึงจะมีโอกาสหายได้ ต่อมาจึงเริ่มค้นพบยารักษา โดยตอนแรกจะเป็นยาชนิดฉีดอย่างเดียว หลังจากนั้นก็ค้นพบยาชนิดรับประทานอีก 2-3 อย่าง แต่ยังต้องใช้ระยะเวลาในการรักษานานมากราวปีครึ่งถึงสองปี

 
 
 
 

จนกระทั่งในปัจจุบันการรักษาใช้เวลาน้อยลงมากเพียงแค่ 6 เดือนก็หายแล้ว และยังไม่ต้องฉีดยาอีกด้วย แต่ก็ยังมีปัญหาตามมาอีกคือยารุ่นใหม่นี้มีประสิทธิภาพสูง รับประทานไม่นานก็เห็นผล ผู้ป่วยมีอาการดีขึ้นจึงเกิดความประมาท และหยุดใช้ยาเองดังนั้นอาการที่ยังไม่หายขาดก็กลับกำเริบอีก คราวนี้เชื้อจะดื้อต่อยาตัวเดิมเสียแล้ว และอาจดื้อต่อยาตัวอื่นๆที่อยู่ในตระกูลเดียวกันอีกด้วย ดังนั้นเมื่อกลับมารับการรักษาใหม่จึงต้องหายาตัวใหม่มารับมือกับเชื้อ ซึ่งจะต้องสูญเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นกว่าปกติมาก จากเดิมถ้ารักษาติดต่อกันจนครบ 6 เดือน จะใช้เงินประมาณรายละ 1,000-3,000 บาท แต่เมื่อเชื้อดื้อยาแล้วต้องใช้จ่ายเพิ่มเป็นประมาณ 30,000-100,000 บาท ต่อราย และโอกาสหายดีมีแค่ร้อยละ 40-50 เท่านั้น ที่เหลือเสียชีวิตหมด

"ทุนวิจัยวัณโรคดื้อยา" ในพระอุปถัมภ์ของ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ จึงถูกจัดตั้งขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อช่วยทดสอบความไวของเชื้อวัณโรคในตัวอย่างส่งตรวจของผู้ป่วยต่อยาสำคัญที่จะใช้ในการรักษาวัณโรค เพื่อช่วยให้แพทย์เลือกใช้ยาที่เหมาะสมในการรักษา ร่วมกับแนวทางใหม่ในการรักษา เรียกว่า "การรักษาวัณโรคแบบมีพี่เลี้ยง" (Directly Observed Treatment Short-course) หรือเรียกย่อๆว่า DOT โดยการรักษาวิธีนี้จะมีการจัดหาคนมาคอยดูแลให้ผู้ป่วยได้รับยาตรงตามเวลาในทุกมื้อของทุกๆวันจนครบระยะเวลาการรักษา และผู้ป่วยหายขาดไม่สามารถแพร่เชื้อได้อีก

ตัวอย่างยาที่มักใช้ทั่วไปในการรักษาวัณโรคได้แก่:

  • ไอโซไนอะซิด (Isoniazid or INH)

  • ไรแฟมปิน (Rifampin)

  • พัยราซินาไมด์ (Pyrazinamide)

  • เอทแทมบูทอล (Ethambutol)

  • สเตรปโตมัยซิน (Streptomycin)

การรักษาจะต้องใช้ยาร่วมกันหลายขนาน เพื่อร่วมกันฆ่าแบคทีเรีย ซึ่งยาแต่ละตัวก็จะออกฤทธิ์ได้ดีในการทำลายแบคทีเรียต่างๆกัน และที่สำคัญเป็นการป้องกันการดื้อยาของเชื้ออีกด้วย

ผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นจากการใช้ยา หากผลข้างเคียงข้างล่างนี้เกิดขึ้นกับคุณ ควรติดต่อแพทย์ประจำของคุณทันที

  • เบื่ออาหาร

  • คลื่นไส้

  • อาเจียน

  • ตัวเหลือง ตาเหลือง

  • มีไข้ติดต่อกัน 3 วันหรือมากกว่านั้น

  • ปวดในช่องท้อง

  • รู้สึกชาๆซ่าๆตามนิ้วมือ นิ้วเท้า

  • มีผื่นที่ผิวหนัง

  • เลือดออกง่าย

  • ปวดตามข้อ

  • มึนงง

  • รู้สึกชาๆซ่าๆรอบปาก

  • เป็นแผลถลอกได้ง่าย

  • มองเห็นภาพไม่ชัด หรือเห็นภาพผิดเพี้ยนไปจากความเป็นจริง

  • ได้ยินเสียงดังก้องในหู

  • สูญเสียการได้ยิน

 

นอกจากนี้อาจมีผลข้างเคียงอื่นๆที่เป็นปัญหาเล็กน้อย ซึ่งผู้ป่วยสามารถใช้ยาดังกล่าวต่อไปได้คือ

ไรแฟมปิน อาจทำให้ปัสสาวะ น้ำลาย หรือน้ำตามีสีส้มได้ บางครั้งแพทย์ และพยาบาลอาจแนะนำให้คุณใส่ คอนแทคเลนส์ชนิดอ่อนนุ่ม เพราะคอนแทคเลนส์อาจติดสีได้ นอกจากนี้ไรแฟมปินยังไวต่อแสงอีกด้วย ดังนั้นคุณอาจต้องใช้โลชั่นกันแดด ก่อนออกแดด เพื่อกันผิวไหม้ ในสุภาพสตรีที่คุมกำเนิดโดยใช้ยากิน หรือแบบฝังใต้ท้องแขน ควรใช้วิธีคุมกำเนิดวิธีอื่นเพราะไรแฟมปินจะทำให้ยาเม็ดคุมกำเนิด และยาคุมแบบฝังใต้ท้องแขนนั้นไม่ได้ผล

Copyright © 2010 Microbiology Department, Faculty of Medicine, Siriraj Hospital, Mahidol University. All rights reserved.